วันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554



ขอบเขตข้อสอบวิชาประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้

รับช่วงสิทธิ (ข้อ 2)
มาตรา 226 ว.1 “บุคคลผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ ชอบที่จะใช้สิทธิทั้งหลายบรรดาที่เจ้าหนี้มีอยู่โดยมูลหนี้ รวมทั้งประกันแห่งหนี้นั้นได้ในนามของตนเอง”
มาตรา 227 “เมื่อเจ้าหนี้ได้รับค่าสินไหมทดแทนความเสียหายเต็มตามราคาทรัพย์หรือสิทธิซึ่งเป็นวัตถุแห่งหนี้นั้นแล้ว ท่านว่าลูกหนี้ย่อมเข้าสู่ฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้อันเกี่ยวกับทรัพย์หรือสิทธินั้นๆ ด้วยอำนาจกฎหมาย”
มาตรา 226 .1 ประกอบ 227 ฎีกา 380/2530
            ตัวอย่าง ดำมีหน้าที่ขับรถส่งของให้แดงนายจ้าง ขณะส่งของ ดำถอยรถชนรถของขาวที่จอดอยู่ (มาตรา 420) รถของขาวมีประกัน เมื่อเกิดภัยตามสัญญาประกันภัยผู้รับประกันเป็นลูกหนี้ ผู้เอาประกันเป็นเจ้าหนี้ ผู้รับประกันจะต้องชำระค่าสินไหมทดแทน ผู้รับประกันภัยก็นำรถของขาวเข้าซ่อม รับว่าจะซ่อมก็ถือว่าชำระค่าสินไหมทดแทนแล้ว เมื่อชำระค่าสินไหมทดแทนแล้วผู้รับประกันก็เข้าสวมสิทธิของผู้เอาประกันภัยไปเรียกจากผู้ทำละเมิด
สรุป รับช่วงสิทธิ มาตรา 226 .1 ประกอบ 227 ผู้รับประกันภัยเป็นลูกหนี้มีส่วนได้เสียตามกฎหมาย ไปเรียกจากแดงและดำตาม มาตรา 425
มาตรา 229 “การรับช่วงสิทธิย่อมมีขึ้นด้วยอำนาจกฎหมายและย่อมสำเร็จเป็นประโยชน์แก่บุคคลดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
(1) .......(เจ้าหนี้สามัญใช้หนี้ให้เจ้าหนี้บุริมสิทธิ)
(2) .......(เอาเงินไปใช้ค่าจำนอง)
(3) บุคคลผู้มีความผูกพันร่วมกับผู้อื่น หรือเพื่อผู้อื่นในอันจะต้องใช้หนี้ มีส่วนได้เสียด้วยในการใช้หนี้นั้น และเข้าใช้หนี้นั้น”
มาตรา 226 ว.1 ประกอบ 229 (3)
การชำระหนี้เพื่อรักษาสิทธิ กฎหมายให้สิทธิเข้าชำระหนี้เพื่อรักษาสิทธิของตน 229(3) ใช้กับลูกหนี้ร่วม เช่น ผู้ค้ำประกัน สามีภรรยาในค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร
ตัวอย่าง หลังจากหย่ากันแล้ว สามีก็จากไปปล่อยให้ภรรยาเลี้ยงลูกอยู่คนเดียว ต่อมาภรรยาไปเจอสามีควงคนใหม่ จึงใช้สิทธิตามมาตรา 229(3) ในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วม สามีไม่เลี้ยงดูบุตร ภรรยาจึงเข้าสวมสิทธิของบุตร รับช่วงสิทธิของบุตรเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจากสามี
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นหนี้ไม่มีกำหนด 203 ว.1 หนี้ถึงกำหนดตั้งแต่สามีไม่เลี้ยงดู สามีภรรยาเป็นลูกหนี้ร่วมตามมาตรา 1490, 1564, 291, 1562, 1565 (สามีหรือภรรยาสามารถรับช่วงสิทธิของบุตรไปเรียกจากอีกฝ่ายหนึ่งได้), 296, 229(3), 2697 สามีต่อสู้ว่าไม่ใช่สิทธิของภรรยาเป็นสิทธิของบุตรต้องให้บุตรฟ้อง และกฎหมายห้ามบุตรฟ้องผู้บุพการีขอให้ศาลยกฟ้อง ศาลวินิจฉัยว่า ภรรยามีสิทธิตามมาตรา 229(3) สามีกับภรรยาเป็นลูกหนี้ร่วม ระหว่างลูกหนี้ร่วมรับส่วนเท่าๆ กัน เมื่อสามีไม่ทำหน้าที่ภรรยาจึงรับช่วงสิทธิของบุตรไปเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากสามี (ถ้าไม่มีส่วนได้เสียจะเข้ารับช่วงสิทธิไปเรียกร้องไม่ได้ เช่น ไม่ได้จดทะเบียนสมรส แม่ทิ้งลูกพ่อเป็นคนเลี้ยงลูกพ่อจะเข้ารับช่วงสิทธิไปเรียกจากแม่ไม่ได้เพราะตัวเองไม่มีหน้าที่จึงไม่ได้มีส่วนได้เสีย แต่ไปเรียกจากภรรยาได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ฐานลาภมิควรได้)
ตัวอย่าง ก กู้เงินธนาคาร 4 ล้าน โดยมี ข ค ง ค้ำประกัน ทั้ง 4 คนนี้จะต้องรับผิดฐานลูกหนี้ร่วม เมื่อหนี้ถึงกำหนด ก ไม่ชำระ ข ไปชำระ 4 ล้าน 8 แสน 8 หมื่น ข เป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมาย ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ธนาคารมีสิทธิอย่างไร ข ก็มีสิทธิอย่างนั้น รับสิทธิใดได้สิทธินั้น ใช้ 229(3) 1408/48 2697/48

การใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ (ข้อ 3)
            มาตรา 233 “ถ้าลูกหนี้ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้อง หรือเพิกเฉยเสียไม่ใช้สิทธิเรียกร้อง เป็นเหตุให้เจ้าหนี้ต้องเสียประโยชน์ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องนั้นในนามของตนเองแทนลูกหนี้เพื่อป้องกันสิทธิของตนในมูลหนี้นั้นก็ได้ เว้นแต่ในข้อที่เป็นการของลูกหนี้ส่วนตัวโดยแท้”
ตัวอย่าง สัญญาซื้อ-ขายรถยนต์ ก ขายรถโบราณให้ ข ราคา 2 แสนบาท ข จ่ายเป็นเช็ค 2 แสนบาท ข นำไปขับโชว์ ค มาเห็นเข้าชอบใจจึงขอซื้อจาก ข ในราคา 3 แสนบาท ค ตกลงซื้อและจ่ายเป็นเงินสด การซื้อขายรถทั้ง 2 ครั้งไม่ได้ทำการโอนทะเบียนชื่อในทะเบียนยังเป็นของ ก อยู่ เมื่อ ค ได้รถมาแล้วก็ควรจะได้ทะเบียนเพราะทะเบียนเป็นเรื่องของทรัพย์สินตัวรถ ค จึงรบเร้า ข ให้ไปโอนทะเบียนให้ แต่ ข ผัดวันประกันพรุ่งเพราะเช็คที่จ่ายให้ ก นั้นไม่มีเงิน จะเรียกให้ ก โอนทะเบียนให้ตนไม่ได้ ตามมาตรา 233 จะต้องโอนทะเบียน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ซื้อขายรถ รถเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่ง 195 ว.2 กรรมสิทธิ์โอนตั้งแต่ตกลงซื้อขาย จาก ก โอนไป ข จาก ข โอนไป ค ส่วนโอนทะเบียนนั้นเป็นเรื่องของรัฐในการควบคุมปริมาณและเก็บภาษีไม่ใช่เรื่องของการโอนกรรมสิทธิ์ เมื่อ ค ได้รับรถเป็นของ ค แล้วก็ควรจะได้ทะเบียน แต่ ข ไม่ยอมโอนให้ จึงใช้ 233 เฉพาะเรื่องการโอนทะเบียน ค เจ้าหนี้ ข และ ข เจ้าหนี้ ก ดังนั้น ก จึงเป็นลูกหนี้ของลูกหนี้ ค ใช้สิทธิของ ข เรียกให้ ก โอนทะเบียนให้ตนได้ ตามมาตรา 233
มาตรา 236 “จำเลยมีข้อต่อสู้ลูกหนี้เดิมอยู่อย่างใดๆ ท่านว่าจะยกขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ได้ทั้งนั้น เว้นแต่ข้อต่อสู้ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อยื่นฟ้องแล้ว”
ตัวอย่าง ก มีที่ดินแปลงงามติดถนน ข มาขอร่วมทุน (เป็นสัญญาต่างตอบแทน) ในการสร้างตึกแถวในที่ดินของ ก โดย ข ออกค่าก่อสร้าง ได้กี่ห้องก็นำมาแบ่งคนละครึ่ง ปรากฏว่าสร้างได้ 10 ห้อง จึงเป็นสิทธิของ ก 5 ห้อง ของ ข 5 ห้อง ตามสัญญา ข นำสิทธิตามสัญญาไปทำสัญญาจะขายให้ จ ฉ ช ง ด ห้องยังไม่ทันได้สร้าง สมมติว่าในสัญญาสร้างเสร็จ 15 ธ.ค. 53 203 ว.2 เป็นหนี้มีกำหนด สิ้นเดือน ธ.ค. 53 เข็มยังไม่ได้ตอก ก จึงบอกเลิกสัญญาเพราะ ข ผิดสัญญา สามารถบอกเลิกสัญญาได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า แต่สิทธิของ จ ฉ ช ง ด ยังค้างอยู่ ปรากฏว่าทั้ง 5 คนนี้ใช้สิทธิของ ข ที่มีสัญญาต่อ ก เรียกให้ ก โอนที่ดินให้ตนตามมาตรา 233 ถามว่าเรียกให้โอนได้ไหมเพราะเหตุใด
ต้องใช้มาตรา 236 คือ ก มีข้อต่อสู้ ข คือว่าสัญญาเลิกแล้วจึงยกขึ้นต่อสู้โจทก์ว่าสัญญาไม่มีแล้วไม่ต้องโอนที่ดินให้เพราะสิทธิของ ข ไม่มีแล้ว เพราะ ก บอกเลิกสัญญาแล้วเนื่องจาก ข ผิดสัญญา

เพิกถอนการฉ้อฉล (ข้อ 3)
            มาตรา 237 “เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใดๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบแต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริง อันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หากกรณีเป็นการทำให้โดยเสน่หา ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้
บทบัญญัติดังกล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ท่านมิให้ใช้บังคับแก่นิติกรรมใดอันมิได้มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สิน”
ฉ้อฉล หมายถึง ลูกหนี้ทำนิติกรรม จำหน่าย จ่าย โอน (ก่อให้เกิดภาระ) ในทรัพย์สิน เพื่อให้พ้นจากการบังคับชำระหนี้ โดยฉ้อฉล คือ ใช้อุบายหลอกลวง เอาความเท็จมากล่าวให้เขาหลงผิด ใช้วิธีการอันไม่สุจริตทำให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบ ซึ่งทรัพย์สินที่เพิกถอนแล้วโดยศาล ทรัพย์สินจะกลับคืนมาสู่กองทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อประโยชน์ของเจ้าหนี้อื่นด้วย
เป็นการทำให้ทรัพย์สินลดน้อยถอยลงจนไม่พอชำระหนี้ ทำให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบ ซึ่งต้องประกอบไปด้วยบุคคล 3 ฝ่าย คือ 1. เจ้าหนี้ ต้องเป็นเจ้าหนี้อยู่ในขณะที่ลูกหนี้ทำนิติกรรมฉ้อฉล 2. ลูกหนี้ 3. ผู้ได้ลาภงอก หรือผู้รับนิติกรรมจากลูกหนี้ (ถ้าหากได้มาโดยสุจริต และเสียค่าตอบแทน จะเพิกถอนนิติกรรมไม่ได้ กฎหมายคุ้มครอง)
ตัวอย่าง ยิ่งรักจดทะเบียนการให้บ้านพร้อมที่ดินให้กับหลานสาวโดยเสน่าหา ต่อมาหลานสาวต่อว่าน้าว่า กูไม่อยู่กับมึงแล้ว ไม่ยุติธรรม การกระทำของหลานสาวถือได้ว่าเป็นการดูหมิ่นผู้ให้อย่างร้ายแรง เป็นการเนรคุณ ตามมาตรา 531 น้ามีสิทธิที่จะถอนคืนการให้ได้ เมื่อหลานรู้ว่าน้าจะถอนคืนการให้จึงได้นำบ้านไปขายให้เพื่อนของที่ชาย ที่ซื้อไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ยิ่งรักจะขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมไม่ได้แต่สามารถบังคับเอากับหลานฐานลาภมิควรได้ (ขายได้เท่าไหร่ต้องเอาเงินคืน)

โอนสิทธิเรียกร้อง (ข้อ 4)
            มาตรา 306 วรรคแรก “การโอนหนี้อันจะพึงต้องชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงนั้น ถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าไม่สมบูรณ์ อนึ่งการโอนหนี้นั้นท่านว่าจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกได้ แต่เมื่อได้บอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้ หรือลูกหนี้จะได้ยินยอมด้วยในการโอนนั้น คำบอกกล่าวหรือความยินยอมเช่นว่านี้ท่านว่าต้องทำเป็นหนังสือ”
คำว่าสิทธิเรียกร้องจะต้องมีบุคคล 2 ฝ่าย คือ ผู้มีสิทธิที่เรียกว่า เจ้าหนี้ กับผู้มีหน้าที่ที่เรียกว่า ลูกหนี้ สิทธิเรียกร้องเป็นทรัพย์สิน สามารถใช้ทำอะไรก็ได้ เช่น ใช้หนี้ ให้ ขาย โอน แต่เฉพาะการโอนสิทธินั้น หมายความว่า ผู้มีสิทธิ คือ เจ้าหนี้โอนสิทธิของตนให้กับบุคคลอื่น คือ ต้องมีผู้รับโอนเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงมีบุคคล 3 ฝ่าย คือ เจ้าหนี้ ลูกหนี้ และผู้รับโอน (โอนทรัพย์มีบุคคล 2 ฝ่าย โอนสิทธิมีบุคคล 3 ฝ่าย) ขายวัวขายควายได้อย่างไรก็ขายสิทธิได้อย่างนั้นเพราะสิทธินั้นเป็นทรัพย์สิน
ตัวอย่าง ตึกหลังนี้ค่าก่อสร้าง 5 ล้านบาท ก ประมูลได้จากมหาวิทยาลัย วงเงิน 5 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 5 ล้าน ก เป็นผู้มีสิทธิ มหาวิทยาลัยเป็นลูกหนี้ ก เป็นเจ้าหนี้ ก มีเงินไม่พอก่อสร้างจึงนำโครงการไปเสนอธนาคารขอกู้ ธนาคารจะให้ ก โอนสิทธิเรียกร้องที่จะได้จากมหาวิทยาลัยให้กับธนาคาร ธนาคารก็ให้กู้ มหาลัยจะจ่ายค่าก่อสร้างให้กับธนาคาร เพราะ ก ได้โอนสิทธิให้กับธนาคารแล้ว
กฎหมายได้กำหนดขั้นตอนการโอนไว้ 2 กรณี
ขั้นตอนระหว่างเจ้าหนี้ผู้มีสิทธิกับผู้รับโอนนั้นจะต้องทำเป็นหนังสือ แต่ศาลวินิจฉัยว่าแม้การทำเป็นหนังสือเพียงมีลายมือชื่อผู้โอนฝ่ายเดียวสามารถใช้ได้สมบูรณ์ เพราะถือว่าเจ้าหนี้สละสิทธินั้นแล้ว
จะผูกพัน บังคับลูกหนี้ หรือบุคคลภายนอกได้ต่อเมื่อได้บอกกล่าวไปยังลูกหนี้หรือลูกหนี้ได้ยินยอมด้วยในการโอนนั้น คำบอกกล่าวหรือคำยินยอมนั้นต้องทำเป็นหนังสือ (ระหว่างผู้โอนกับผู้รับโอนใครเป็นคนบอกกล่าวก็ได้) (เงินเดือน ค่าสินไหมทดแทน ค่าอุปการะเลี้ยงดู เรื่องเฉพาะตัว โอนไม่ได้)
ตัวอย่าง ก ซื้อบ้านพร้อมที่ดินของ ข ราคา 5 ล้านบาท (สัญญาซื้อขาย) แต่ปรากฏว่าบ้านชำรุดบกพร่องเพราะหลังคารั่ว ตามมาตรา 472 ผู้ขายต้องรับผิดชอบในความชำรุดบกพร่อง และมาตรา 488 ผู้ซื้อสามารถยึดหน่วงราคาไว้ได้ ก ยึดหน่วงราคาไว้ 3 แสน จนกว่าจะได้ซ่อมหลังคาให้เสร็จเรียบร้อย ชำระ 4.7 ล้าน ข ทำบันทึกว่าตนจะทำการแก้ไขซ่อมแซมให้เรียบร้อย ทำบันทึกไว้กับ ก แก้ไขเมื่อไหร่ก็มารับอีก 3 แสน ถ้ายังไม่แก้ไขให้เรียบร้อยก็ยังรับเงินไม่ได้ ต่อมา ก ขายบ้านพร้อมที่ดินดังกล่าวให้ ค 5.5 ล้าน แล้วมอบหนังสือของ ข ที่บันทึกว่าจะทำการซ่อมแซมหลังคาให้กับ ค ด้วย เมื่อ ค ซื้อแล้วก็เรียกให้ ข ซ่อมแซมตามบันทึก ข ไม่ยอม อ้างว่าตนทำให้กับ ก เท่านั้น ศาลฎีกา ถือว่าสิทธินี้มันโอนแล้วทั้งบ้านทั้งที่ดินทั้งทำการซ่อมแซม แล้ว ข ก็ยินยอมที่จะทำการซ่อมแซม สิทธิที่จะเรียกให้ซ่อมแซมหลังคานั้นโอนไปแล้ว เพราะฉะนั้น ข จะปฏิเสธไม่ได้ แม้ว่าไม่มีหนังสือแต่การซื้อขายถือว่าสมบูรณ์แล้วตามมาตรา 306 ระหว่างเจ้าหนี้กับผู้รับโอนแม้ว่าต้องทำเป็นหนังสือแต่มีลายมือชื่อผู้โอนฝ่ายเดียวก็ใช้ได้
ตัวอย่าง เรื่องให้โดยเสน่หา อยากจะให้ของขวัญคนรักในวันเกิด 5 แสน แต่ตนมีสิทธิเรียกร้องในธนาคาร 3 ล้าน เงินนั้นเป็นของธนาคารแต่ผู้ฝากมีสิทธิเรียกร้อง แต่วันเกิดนั้นตนต้องไปต่างประเทศ เลยทำหนังสือโอนสิทธิเงินฝาก 5 แสนในธนาคารนั้นให้กับคนรัก ลงชื่อผู้มีสิทธิ พร้อมทั้งหนังสือกับสมุดให้กับธนาคารไว้แล้วเดินทางไปต่างประเทศ พอถึงวันเกิดก็ให้คนรักไปธนาคารขอเบิก 5 แสน ธนาคารไม่ ยอมอ้างว่าธนาคารไม่เคยยินยอมและธนาคารไม่เคยได้รับคำบอกกล่าว ศาลฎีกาบอกว่า การที่เค้าได้มอบหนังสือกับสมุดเงินฝากนั้นถือว่าได้บอกกล่าวให้ธนาคารทราบแล้ว ทั้งใบโอน ทั้งสมุดเงินฝาก
ตัวอย่าง เรื่องซื้อขาย ก ไปทำสัญญาจะซื้อบ้านพร้อมที่ดินกับบริษัท ข ในสัญญา ก ต้องชำระเงินล่วงหน้าและผ่อน ชำระเงินล่วงหน้าและผ่อนครบแล้วก็เหลือแต่สิทธิที่จะได้รับการโอนบ้านพร้อมที่ดิน ก ก็ขายสิทธินั้น เอากำไร 5 แสน ผู้ซื้อคนหลังจะขอให้ผู้ขายโครงการโอนบ้านพร้อมที่ดินให้ตน ผู้ขายอ้างว่าสัญญาซื้อขายนั้นมีทั้งสิทธิและหน้าที่เพราะฉะนั้น โอนได้แต่สิทธิหน้าที่โอนไม่ได้ ไม่ยอมโอนให้ ศาลวินิจฉัยว่า เมื่อเค้าทำหน้าที่เสร็จแล้วเหลือแต่สิทธิโอนได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น